ประวัติและวัถถุประสงค์

    เกี่ยวกับสมาคม
    สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
แต่เดิมมา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งในนามของสมาคมคนตาบอดกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2510 ทั้งนี้เกิดขึ้นจากคำปรารภของมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้ใช้โรงเรียนสอนคนตาบอดเป็นสถานที่ติดต่อชั่วคราว

    วัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งเป็นสมาคมขึ้นนี้ กล่าวโดยสรุป คือ

  1. เพื่อการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนตาบอด
  2. เพื่อร่วมกันพิทักษ์และรักษาสิทธิอันพึงมีพึงได้โดยชอบธรรมของคนตาบอด
  3. เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และสร้างให้คนตาบอดที่ยังขาดโอกาสในสังคมได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

    ต่อมา เพื่อให้เป็นการเหมาะสมแก่สถานภาพของสมาคมฯ ที่ขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นลำดับมา และเพื่อให้เป็นการสอดคล้องรองรับกับวัตถุประสงค์หลักดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จึงได้มีความเห็นชอบให้ดำเนินการขอแก้ไขการจดทะเบียนจากสมาคมคนตาบอดกรุงเทพฯ เป็น “สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย”

    ซึ่งต่อมาได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการให้เปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมใหม่ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2524 โดยได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ ณ ที่อาคารสยามพืชไร่ ถนนพญาไท จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527

    สมาคมฯ ได้รับความอนุเคราะห์จาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1.7 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออาคารพร้อมที่ดินในซอยบุญอยู่ ถนนดินแดง ให้ใช้เป็นสำนักงานถาวร และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยจึงได้มีที่ทำการ ณ อาคารดังกล่าว จนถึงปัจจุบัน

    วัตถุประสงค์ของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

  1. ประสานงานและร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและนอกประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและพัฒนาคนตาบอด
  2. ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการยกระดับและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนตาบอดทั่วประเทศทั้งด้านการศึกษา อาชีพ เศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม และอื่นๆ
  3. จัดสวัสดิการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่สมาชิกรวมทั้งร่วมกันแก้ไข และขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น
  4. ส่งเสริมความสามัคคีและความเข้าใจอันดีระหว่างคนตาบอดและบุคคลทั่วไป
  5. ร่วมกันรักษาสิทธิและหน้าที่อันพึงมีพึงได้ตามกฎหมาย
  6. เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องตลอดจนความเข้าใจอันดีของการอยู่ร่วมกันในสังคมระหว่างคนตาบอดกับบุคคลทั่วไป
  7. ส่งเสริม สนับสนุนให้คนตาบอดมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งที่เป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบต่อคนตาบอดโดยตรง
    ตลอดจนการร่วมพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม
  8. ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
    โดยไม่แสวงหากำไร รวมทั้งส่งเสริมผลักดันและพิทักษ์สิทธิของคนตาบอดที่เกิดจากกิจการดังกล่าวทุกประการ
  9. ส่งเสริมและดำเนินการด้านการกีฬาและนันทนาการของคนตาบอด เพื่อสุขภาพและความเป็นเลิศในทุกระดับ
  10. รับสัมปทานจากรัฐในการประกอบกิจการต่าง ๆที่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้คนตาบอดได้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย เช่น อาชีพ ค้าสลาก
    โดยจำหน่ายสลากทุกประเภทที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือรัฐบาลพิมพ์ออกจำหน่าย ทั้งนี้ตามความรู้ และความสนใจของแต่ละบุคคล
Scroll to Top